กลุ่มบริหารงานวิชาการ

  • ขอบข่ายงานวิชาการ

         โรงเรียนศรีจอมทอง ได้กำหนดให้มีครูวิชาการแต่ละชั้นตั้งแต่ระดับอนุบาล ๑ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖ โดยมีกระบวนการและแนวปฏิบัติของโรงเรียนศรีจอมทอง ดังนี้

        ๑.๑ ผู้อำนวยการโรงเรียนรับนโยบายจากเขตพื้นที่การศึกษาและนำเสนอในที่ประชุมข้าราชการครูเพื่อรับทราบนโยบายและทำ ข้อตกลงให้คณะครูทุกคนในโรงเรียนศรีจอมทอง ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระวิชาที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษาที่ผ่านมา ร้อยละ ๓

         ๑.๒ โรงเรียนศรีจอมทองมีการสรุปโครงการแผนปฏิบัติงานโดยเฉพาะด้านวิชาการเมื่อสิ้นปีการศึกษา  นำผลแต่ละโครงการมาวิเคราะห์  หาจุดเด่น  จุดด้อย  ร่วมกันวิพากษ์โครงการ   สรุปผลการปฏิบัติงาน  เสนอผู้บริหารเพื่อให้ข้อเสนอแนะ  โครงการใดที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนให้ดำเนินการต่อเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนในปีต่อไปและแต่ละโครงการต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานประจำปี  ทุกปีการศึกษา  

           ๑.๓ การทดสอบวัดความรู้พื้นฐานของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖ ก่อนจัดชั้นเรียนเพื่อดูพื้นฐานความรู้และความพร้อมของนักเรียนแต่ละคนเป็นการวิเคราะห์นักเรียนรายบุคคล  โดย นักเรียนที่มีความพร้อมและสามารถเรียนรู้ได้  ตั้งแต่ลำดับที่ ๑ – ๗๐  เข้าห้องเรียนห้องที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ   ส่วนนักเรียนลำดับที่ ๗๑ เป็นต้นไปจัดเข้าชั้นเรียนห้องที่ ๓ – ๖  ของสายชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๓  ในส่วนของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖   จัดห้องเรียนเบญจวิชาการ  โดยจัดการเรียนรู้ตามศักยภาพการเรียนรู้ ความถนัดในแต่ละวิชาของนักเรียนโดยแบ่งเป็น ๖ ห้องเรียนได้แก่ห้องเรียนภาษาไทย ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์  ห้องเรียนสังคมศึกษา  ห้องเรียนภาษาอังกฤษ และห้องเรียนทั่วไป  

         ๑.๔ กำหนดหลักสูตรสถานศึกษา และโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนศรีจอมทองให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

        ๑.๕ จัดทำปฏิทินงานวิชาการ ทุกสัปดาห์ครูวิชาการทุกคนมีการประชุมเพื่อปรึกษา กำหนด แนวทางพัฒนางานวิชาการ   

        ๑.๖ ก่อนเปิดภาคเรียน  ครูทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อมโดยครูทุกคน ศึกษา หลักสูตร  ,โครงสร้างหลักสูตร   สาระ   มาตรฐาน  ตัวชี้วัด    จัดทำกำหนดการสอน   และสอนตามตัวชี้วัด    

        ๑.๗ การจัดการเรียนการสอนเต็มเวลา   ครบเนื้อหา ทุกระดับชั้น ครูทุกคนต้องสอนให้จบเนื้อหาภายใน วันที่ ๗  ธันวาคม ของทุกปี ภายหลังการทดสอบปลายภาคเรียนครูประจำชั้นนำเวลาที่เหลือไปทบทวนบทเรียนให้กับนักเรียน  น้องอนุบาล ๒ ครูประจำชั้นจะนำแบบฝึกของน้องอนุบาล ๓ มาเรียน   ชั้นอนุบาล  ๓  ช่วงบ่าย คุณครูจัดกิจกรรมนันทนาการ “ช่วงบ่ายคลายเครียด”  ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนปนเล่น  ทดแทนการนอน เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในปีการศึกษาต่อไป ซึ่งไม่มีเวลาให้นักเรียนได้พักนอนในตอนบ่าย   , นักเรียนชั้น ป.๑ ครูประจำชั้นจะนำหนังสือสาระภาษาไทยและคณิตศาสตร์  ชั้น ป.๒  มาเตรียมความพร้อมตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖  ครูประจำชั้นนำเอกสารหรือแบบเรียนระดับมัธยมศึกษามาเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนเพื่อปรับพื้นฐานการเรียนในระดับมัธยมต่อไป

      ๑.๘ นักเรียนชั้น ป.๓ และ ป.๖ ครูประจำชั้นสอนทบทวนเตรียมความพร้อมสำหรับการทดสอบระดับชาติ  โดยมีแนวปฏิบัติ  ดังนี้

         - โรงเรียนจัดทำคำสั่งแต่งตั้งให้คณะครูที่มีความถนัดในแต่ละวิชา สอนเสริมนักเรียนชั้น ป.๓ และ ป.๖ ในชั่วโมง  โดยใน ๑ ห้องเรียน  มีครูช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ในแต่ละด้านและแต่ละสาระวิชา  ห้องละ  ๔  คนช่วยดูเด็กในแต่ละกลุ่ม  ๔ กลุ่ม  หมุนเวียนจนครบโดยมีปฏิทินการปฏิบัติงานเป็นระยะ และรายงานให้ผู้บริหารรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขครูประจำชั้น ป.๓ และ ป.๖ สอบคัดนักเรียนตามพื้นฐานความรู้ของนักเรียนแต่ละคน  โดย ป.๓ แบ่งนักเรียนออก เป็น  ๔ ห้อง   แต่ละห้องคณะครูที่ยกระดับผลสัมฤทธิ์คัดนักเรียนออกเป็น ๔ กลุ่มย่อย มีชื่อกลุ่ม   ในระดับชั้น ป.๖  แบ่งนักเรียนออกเป็น  ๕ ห้อง แต่ละห้องแบ่งนักเรียนออก เป็น ๔ กลุ่ม  ตั้งชื่อกลุ่มเช่นกัน

- คุณครูที่รับผิดชอบสอนทบทวนนักเรียนชั้น ป.๓ และ ป.๖ ต้องศึกษา Test  blueprint  โครงสร้างแบบทดสอบแต่ละด้าน  แต่ละสาระวิชา 

- นำผลการทดสอบระดับชาติของนักเรียนปีที่ผ่านมา  วิเคราะห์ตัวชี้วัดใดที่นักเรียนส่วนมากทำไม่ได้ต้องแก้ให้ตรงจุด

- จัดทำกำหนดการสอนในแต่ละห้องและแต่ละวัน  จะสอนตัวชี้วัดไหน  กี่ข้อ   จัดเตรียมสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจที่คงทน

  • จัดสร้างเครื่องมือสำหรับยกระดับ ตามตัวชี้วัด ของโครงสร้างแบบทดสอบแต่ละด้าน  แต่ละวิชา  โดยครูศึกษามาตรฐานตัวชี้วัดแต่ละด้าน  จัดสร้างเครื่องมือให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด หลายชุด 
  • ในแต่ละวันหลังจากทำการสอนยกระดับผลสัมฤทธิ์ คุณครูที่สอนห้องละ ๔  คน  ช่วยกันวิเคราะห์นักเรียนรายบุคคล  เช่นแบบทดสอบด้านภาษาของนักเรียนชั้น ป.๓  มี  ๖ ตัวชี้วัด  ตัวชี้วัดที่ ๓  การตอบคำถามจากเรื่องที่ฟัง  ดู และอ่าน  นักเรียนส่วนมากทำผิดข้อไหนมากที่สุด   ทำข้อไหนได้มากที่สุด    เพราะอะไรนักเรียนจึงทำได้ /ไม่ได้   นำผลมาวิเคราะห์แล้วไปสอนเนื้อหาที่นักเรียนทำไม่ได้   ไม่เข้าใจ   สร้างสื่อ นวัตกรรม และแบบทดสอบตัวชี้วัดที่นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์มาพัฒนาเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย  สอนย้ำ ซ้ำทวน
  • ทำการทดสอบก่อนเรียน ระหว่างเรียน   และหลังเรียน  เพื่อวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย  ของนักเรียนแต่ละคน จากนั้นนำผลการวิเคราะห์มาพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้มีความพร้อมทางการเรียนเท่าเทียมกันกับเพื่อน ๆ หรือตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน
  • เมื่อสอนยกระดับฯ ครบทุกตัวชี้วัด  ครูจำลองห้องสอบให้นักเรียนได้ทดลองสอบเสมือนจริง  ฝึกฝนรหัสข้อสอบ   รหัสประจำตัวสอบ    จัดห้องสอบ   เลขที่นั่งสอบ  มีคณะกรรมการคุมสอบ  และมีการประชาสัมพันธ์เวลาในการเข้าห้องสอบ  การเริ่มลงมือทำแบบทดสอบ    หมดเวลาทำแบบทดสอบ  เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับบรรยากาศการทดสอบระดับชาติ

         ๑.๙ ก่อนที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  และ ๖  จะมีการทดสอบระดับชาติ ๑ วันโรงเรียนมีกิจกรรมสร้างความสุขสนุกกับการร้องเล่น เต้น รำ (กิจกรรมนันทนาการ) ให้กับนักเรียนทุกคน โดยให้คุณครูที่สอนยกระดับฯ นักเรียนทุกคนจัดกิจกรรมนันทนาการ  “ครูร้องน้องเต้น”   เป็นการแสดงให้กับนักเรียน ได้ผ่อนคลายและมีความสุขอย่างเต็มที่

Shared Website