โรงเรียนศรีจอมทอง เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาล ตำบลบ้านหลวง 2 (ศรีจอมทอง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ 17 พฤษภาคม 2465 โดยมีนายชื่น ธนัญชัย เป็นครูใหญ่คนแรก เดิมตั้งอยู่ที่ศาลาวัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นเวลา 14 ปี ต่อมาเมื่อ 1 เมษายน 2479 หมื่นผดุง สุขเสริม ได้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินของนางสุข นางจันทร์แก้ว แสงสีโสด มอบให้เป็นที่ดินของโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน ขึ้นทะเบียนราชพัสดุ เลขที่ 1218 พ.ศ.2530 เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 70.9 ว2 .พ.ศ.2479 ได้สร้างอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ขนาด 7 ห้องเรียน โดยมี นายอินตา สุลาวรรณ เป็นครูใหญ่ จนถึง พ.ศ.2486 ได้ลาออก นายทิพย์ ประสพสุข จึงเป็นครูใหญ่แทน เดือน เมษายน 2487 โรงเรียนประสบพายุพัดอาคารพังทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ นายเธียร กลัมสูตร ศึกษาธิการ จึงนำไม้ไปสร้างโรงเรียนบ้านข่วงเปาเหนือ นักเรียนโรงเรียนศรีจอมทองจึงย้ายไปเรียนที่ศาลาวัดพระธาตุตามเดิม
พ.ศ.2495 นายสมาส อมาตยกุล นายอำเภอได้มอบที่ดิน ซึ่งเป็นที่ป่าช้าเก่าแก่ให้โรงเรียน ติดต่อกับที่ดินของโรงเรียน นายสมาน เยสุวรรณ ศึกษาธิการอำเภอกำนันปัน ศรีจอมทอง นายหมื่น นามเทพ ได้นิมนต์ท่านครูบาอภิชัย ขาวปี นักบุญเมืองเหนือมาเป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเรียนเป็นตึกฉาบปูน ขนาดกว้าง 10 ม. ยาว 60 ม. แบบ ป.1 มุขกลาง จำนวน 1 หลัง 7 ห้องเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง 175,039.15 บาท โดยไม่ได้รับงบประมาณจากทางราชการ ได้ทำบุญอาคารเมื่อ 2 พฤษภาคม 2496 โดยมีนายประเสริฐ กาญจนกุล ผู้จัดการเชียงใหม่ มาเป็นประธาน นายทองสุข สุวัตถี เป็นนายอำเภอ
พ.ศ.2498 นายเหรียญ เสาวธีระ นายอำเภอ นายสุนทร รักราษฎร์ ปลัดอำเภอได้ออกหลักฐานที่ดินให้แก่โรงเรียน นายสมาน เยสุวรรณ ศึกษาธิการอำเภอ กำนันปัน ศรีจอมทอง นายหมื่น นามเทพ ครูใหญ่ ได้นำราษฎร์สร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 1 หลัง ขนาด 18 ม. จำนวน 4 ห้องเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง 11,834.60 บาท โดยราษฎรบริจาค
พ.ศ.2499 จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่คับแคบจึงแบ่งนักเรียนไปเรียนที่ศาลาวัดพระธาตุ จำนวน 3 ห้องเรียน ต่อมาคณะกรรมการโรงเรียนได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณสุวรรณโมลี เจ้าคณะอำเภอ พระครูสุวิทยธรรมเจ้าอาวาส เป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเรียนเป็นตึกชั้นเดียว 2 มุข กว้าง 9 ม. ยาว 32 ม. จำนวน 5 ห้องเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง 58,908.75 บาท เป็นเงินสมทบ จากวัดพระธาตุ 12,000.-บาท ทางราชการสมทบ 4,000.-บาท ทำพิธีเปิดอาคาร เมื่อ พ.ศ.2499
ปีการศึกษา 2499 ทางราชการได้เปิดสอนโรงเรียนมัธยม 1 แห่ง อยู่ติดกับบริเวณป่าช้า วัดดอยแก้ว โดยมีนายไถน ใจดี เป็นครูใหญ่ แต่สถานที่อยู่ห่างชุมชนจึงย้ายมาตั้งในบริเวณ โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันคือห้องสมุดประชาชน) พ.ศ.2503 โรงเรียนมัธยมได้รับอนุมัติงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ 017 ตึกไม้ ขนาด 4 ห้องเรียน เป็นเงิน 133,310.-บาท และมีผู้บริจาคสร้างบ้านพักครูหลังแรกทำด้วยไม้ จำนวน 1 หลัง
พ.ศ.2506 ทางราชการมีนโยบายขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 7 ปีจึงมีการรวมโรงเรียนมัธยมและชุมชนศรีจอมทอง เข้าด้วยกัน เมื่อ 21 มิถุนายน 2506 โดยมีนายไถน ใจดี เป็นครูใหญ่ ส่วนนายหมื่น นามเทพ ได้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนข่วงเปาเหนือ
พ.ศ.2508 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติเงิน 35,000.-บาท ก่อสร้างโรงฝึกงาน ขนาด 7 x 9 ม. ตามแบบ 3 / 2 เสร็จเมื่อ 1 พฤษภาคม 2509
พ.ศ.2509 ผู้ปกครองนักเรียนบริจาคทรัพย์ จำนวน 21,650.-บาท ต่อเติมชั้นล่างอาคารเรียน
3 มิถุนายน 2511 ทางราชการได้สร้างอาคารเรียนแบบ 017 ตึก จำนวน 8 ห้องเรียน เป็นเงิน 280,000.-บาท อยู่ด้านทิศใต้ของสนาม มีนายจันทร์ ศรีจอมทอง เป็นผู้ก่อสร้าง เสร็จเมื่อ 9 ตุลาคม 2512 ทำพิธีเปิดเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2512 นายสุรจิตต์ จันทรคัพท์ เป็นนายอำเภอ นายสุพจน์ ชวลิตพงค์ เป็นศึกษาธิการอำเภอ
พ.ศ.2513 โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครูขนาด 2 ห้องนอน เป็นเงิน 250,000.-บาท ผ่ากั้นด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบทำบุญเมื่อ 21 กันยายน 2513
เนื่องจากรั้วโรงเรียนด้านทิศตะวันออกติดกับลำน้ำเหมืองเป็นรั้วมะขามเทศ นายสวัสดิ์ เหมือนสุทธิวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการประถมศึกษาตอนปลาย จึงติดต่อผู้ปกครองนักเรียนเพื่อช่วยกันสร้างรั้วซีเมนต์ยาว 117 เมตร จำนวน 54 ห้อง เป็นเงิน 19,787.-บาท ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 18 สิงหาคม 2515 โดยมีนายทองพูน ไชยราช เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ต่อมาเจ้าคุณวิริยาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พร้อมศรัทธา ได้นำผ้าป่านครหลวงกรุงเทพ ลำปาง เชียงใหม่ มาทอดเพื่อหาเงินสร้างรั้วด้านใต้ได้เงิน 5,366.25 บาท ราษฎรสมทบอีก 6,725.-บาท ได้สร้างเพิ่มเติมอีก 74 ห้อง เป็นเงิน 12,958.95 บาท ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 12 มกราคม 2517
พ.ศ.2518 สจ.สุวิทย์ นามเทพ นายปรีชา ศรีนาราง นายอำเภอ นายบุญเลิศ สุวี หัวหน้าหมวดการศึกษา นางวรรณา วุฒิการณ์ อาจารย์ใหญ่พิจารณา เห็นว่าอาคารเรียนอภิชัย ชำรุดมากจึงของบประมาณซื้อและสร้างอาคาร 017 ตึกขนาด 6 ห้องเรียน เป็นเงิน 400,000.-บาท เงินสมทบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีก 4,500.-บาท รวม 404,500.-บาท คุณนายกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ บริจาคอีก 13,000.-บาท เป็นค่าต่อเติมอาคารเรียนอีก 2 ห้อง รวมเป็น 8 ห้อง นายไหล อะตะมะ บริจาคประตูเหล็ก 1,300.-บาท ก่อสร้างเสร็จ เมื่อ 21 กรกฎาคม 2519 และได้สร้างบ้านพักครูอีก 1 หลังวงเงิน 70,000.-บาท ทำพิธีเปิด เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2519 โดยมีนายทวี ทวีพูล เป็นนายอำเภอ ในปีนี้นายสวัสดิ์ เหมือนสุทธิวงศ์ ได้ถูกยืมตัวไปช่วยราชการฝ่ายการเงิน หมวดการศึกษาอำเภอจอมทอง
พ.ศ.2522 ได้รับอนุมัติสร้างโรงอาหารแบบ อชม.2 ราคา 127,000.-บาท โดยมีนายจันทร์ ศรีจอมทอง เป็นผู้ก่อสร้างเสร็จ เมื่อ 9 มีนาคม 2523
พ.ศ.2524 กสช.สร้างโรงอาหารและส้วม 1 หลัง เป็นเงิน 10,000.-บาท
พ.ศ.2528 ได้รับงบประมาณก่อสร้างต่อเติมอาคารอภิชัย 3 ห้องเรียน เป็นเงิน 300,000.-บาท สร้างเสร็จเมื่อ 4 มกราคม 2528
เนื่องจากอาคาร 017 ตึกไม้ด้านเหนือชำรุดทรุดโทรมมากและอยู่ขวางสนามฟุตบอล สร้างมาได้ 23 ปี ยากแก่การซ่อมแซม คณะกรรมการโรงเรียน จึงติดต่อ ดร.อำนวย ยศสุข รมช.คลัง สส.เขต 3 เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือ ฯพณฯ ได้นำคณะชมรมธุรกิจชาวบางรักและคลองเตยมาบริจาคเงินช่วยเหลือ รื้อย้ายและก่อสร้าง สิ้นเงิน 300,000.-บาท ได้ทำพิธี “ตานส่าย ตานแตน” เมื่อ 24 มกราคม 2528 ก่อสร้างอาคาร 017 ตึก 8 ห้องเรียน ใช้ชื่ออาคาร “อภิชัยขาวปี” (ธุรกิจบางรักอนุสรณ์) สร้างเสร็จเมือง 31 มีนาคม 2528 โดยนายมอย มุอินใจ เป็นผู้ก่อสร้าง และนายมอย ได้บริจาคเงินต่อเติมชั้นล่างอีก 3 ห้องเรียน เป็นเงิน 45,000.-บาท ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อ 13 เมษายน 2528 โดย ดร.อำนวย ยศสุข รมช.คลังเป็นประธานพร้อมด้วย คณะผู้บริจาค มีคุณแก้ว วงศ์บุญสิน คุณธรรม ธนโรเคาสุข คุณโกวิทย์ วงค์สันติสุข คุณพีระเดช ไกศิยวานิช เป็นผู้นำชาวบางรักและคลองเตย
21 กรกฎาคม 2528 ทางโรงเรียนได้รับมอบพระพุทธรูปประจำสถานศึกษาจากวัดแสนฝาง ได้ตั้งชื่อว่า “พระพุทธมิ่งมงคล”
30 ธันวาคม 2528 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาด 5 x 10 ม. วงเงิน 35,000.-บาท ให้แก่โรงเรียน
20 กันยายน 2529 ได้รับงบประมาณจาก สปช.สร้างสนามฟุตบอล เป็นเงิน 300,000.-บาท ปีนี้ทางโรงเรียนได้รับอนุมัติเปิดสอนอนุบาล 5 ขวบ อย่างเป็นทางการ
1 พฤษภาคม 2532 คณะผู้ปกครองนักเรียนได้ร่วมกันขุดบ่อน้ำบาดาล ที่บ้านแม่กลางบ้านลุ่ม โดยนายมานิต นามเทพ ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ตั้งโรงสูบน้ำ สิ้นเงิน 60,000.-บาท
1 พฤษภาคม 2534 ได้รับอนุมัติเปิดอนุบาล 4 ขวบ และได้รับงบประมาณสร้างอาคารเอนกประสงค์ แบบ สปช.205 / 26 วงเงิน 1,106,000.-บาท สร้างเสร็จ เมื่อ 9 มีนาคม 2535
7 สิงหาคม 2537 ทอดผ้าป่ามหากุศล นำโดย ดร.ขุนทอง อินทร์ไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยเชฟประเทศญี่ป่น จัดซื้อเครื่องกรองน้ำ โรงสูบน้ำเสร็จ เมื่อ 26 ธันวาคม 2536 สิ้นเงิน 95,000.-บาท
21 สิงหาคม 2538สร้างถนนลาดยางโดย งบ สส.สุรพล เกียรติไชยากร และโรงเรียนหาเงินสมทบ สิ้นเงิน 140,800.-บาท
12 พฤษภาคม 2539 ได้รื้อย้ายอาคาร กสช. ไปสร้างอาคารอนุบาล ด้านทิศใต้ ราษฎรสละแรงงานคิดเป็นเงิน 50,000.-บาท
ปีงบประมาณ 2539 ได้รับงบสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.2 / 28 3 ชั้น 12 ห้องเรียน งบประมาณ 4,148,344.-บาท ก่อสร้างอาคาร เสร็จเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2540
22 กรกฎาคม 2542 นายสวัสดิ์ เหมือนสุทธิวงค์ นายพิบูลย์ ศรีปินตา นายทองพูน ไชยราช ได้ร่วมกันของบประมาณสร้างรั้ว และปรับปรุงภุมิทัศน์ ขอลานกีฬาเอนกประสงค์ของโรงเรียนและที่ว่าการอำเภอ โดยการประสานงานของ สส.ณรงค์ ภูอิทธิวงค์ สส.เชียงใหม่ เขต3 ในส่วนของโรงเรียนได้งบประมาณจาก สปช. เป็นเงิน 1,239,000.-บาท พร้อมกับสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยงบประมาณของกรมโยธาธิการ ในส่วนของอำเภอ และโรงเรียน การก่อสร้างแล้วเสร็จเพื่อฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง มีพระชนมายุครบ 72 พรรษา เมื่อ 5 ธันวาคม 2542
18 ธันวาคม 2544 นายจักรคำ หวันแดง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อหลวง สปอ.ฮอด สปจ.เชียงใหม่ ได้รับคำสั่งให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง ได้ทำการขอเปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงเรียนศรีจอมทอง”
ปัจจุบันโรงเรียนศรีจอมทอง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 192 หมู่ 1 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ทั้งหมด 12 ไร่ 1 งาน 70.9 ตารางวา โรงเรียนศรีจอมทอง ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,693 คน และมีข้าราชการครูทั้งหมด 64 คน ช่วยราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน นักการภารโรง 2 คน พนักงานขับรถ 1 คน แม่บ้าน 2 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 2 คน
รายนามผู้บริหารโรงเรียน
- นายชื่น ธนันชัย พ.ศ.2465 - 2479
- นายอินตา สุภาวรรณ พ.ศ.2479 - 2486
- นายทิพย์ ประสพสุข พ.ศ.2486 – 2487
- นายวิรัช อุดมใหม่ พ.ศ.2487 - 2488
- นายมานิต ปรมะ พ.ศ.2488 - 2488
- นายแสวง คมขำ พ.ศ.2488 – 2488
- นายสมบูรณ์ คันธาทิพย์ พ.ศ.2488 – 2492
- นายหมื่น นามเทพ พ.ศ.2492 – 2506
- นายไถน ใจดี พ.ศ.2506 – 2509
- นายเกียรติ ขวัญคง (รักษาการ) พ.ศ.2509 – 2509
- นายเมือง ละอองอินทร์ พ.ศ.2509 – 2511
- นางวรรณา วุฒิการณ์ พ.ศ.2511 – 2526
- นายสวัสดิ์ เหมือนสุทธิวงศ์ พ.ศ.2527 – 2544
- นายพิบูลย์ ศรีปินตา (รักษาการ) พ.ศ.2544 – 2544
- นายจักรคำ หวันแดง พ.ศ.2544 – 2562
- นายสามารถ อินตามูล พ.ศ.2562 - 2564
- นางสาวดวงมณี ทองนาเมือง (รักษาการ) พ.ศ. 2564 - 2564
- นายกิตติยพันธ์ ปันแก้ว พ.ศ.2564-ปัจจุบัน